การประกวดผลิตสื่อคลิปวิดีโอและอินโฟกราฟิก DIGIFAM AWARDS ครั้งที่ ๒

โครงการ HEALTHY DIGITAL FAMILY
เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง
กิจกรรมประกวดผลิตสื่อคลิปวิดีโอและอินโฟกราฟิก “DIGIFAM AWARDS ครั้งที่ ๒”

รางวัล POPULAR VOTE โหวตให้กระจายไปจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้ จัดไปให้เต็มที่! ✌️

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและความสามารถในการเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างการรับรู้และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัลแก่ประชาชน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นปราการสำคัญที่สุดในการป้องกัน ดูแล คัดกรองและปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไทยให้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่ออย่างถูกต้อง เพื่อสร้างรากฐานการดำรงชีวิตที่แข็งแรงสำหรับประชาชนและสังคมไทย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงจัดการประกวดคลิปวิดีโอและอินโฟกราฟิก “DIGIFAM AWARDS ครั้งที่ ๒” ชิงถ้วยพระราชทาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นกิจกรรมใน โครงการ Healthy Digital Family “เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง” โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมส่งผลงานการผลิตสื่อคลิปวิดีโอและอินโฟกราฟิก แสดงแนวคิดในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ปลอดภัยและมีวัฒนธรรม

หัวข้อการประกวด

Reset Mindset “เข้าใจ ใช้เป็น เห็นรอบ”

ประเภทการประกวด แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท

  1. ผลิตสื่อวิดีโอ
  2. ผลิตสื่ออินโฟกราฟิก

คุณสมบัติผู้สมัคร แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ ได้แก่

  1. มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า (รับรองโดยสถาบันต้นสังกัดเท่านั้น) แบบเดี่ยวหรือทีม (จำนวนสมาชิกต้องไม่เกิน ๑๐ คน)
  2. ประชาชนทั่วไป แบบเดี่ยวหรือทีม (จำนวนสมาชิกต้องไม่เกิน ๑๐ คน)

กฏกติกาของการประกวด

  1. ผู้สมัครเข้าประกวดในระดับมัธยมศึกษา/อุดมศึกษาหรือเทียบเท่าต้องส่งผลงานในนามสถาบันการศึกษา โดยแต่ละสถาบันการศึกษาสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้มากกว่า ๑ ผลงานและมีอาจารย์จากสถาบันนั้นๆ ลงนามรับรองในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาและถือเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในทีม (อาจารย์ ๑ ท่าน สามารถลงนามรับรองในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับทีมที่เข้าแข่งขันได้มากกว่า ๑ ทีม)
  2. ผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดประเภทคลิปวิดีโอต้องมีความยาวไม่เกิน ๓ นาที (รวมไตเติ้ลของโครงการฯตอนเริ่มต้นผลงานและเครดิตปิดท้าย)
  3. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีตราสัญลักษณ์ (LOGO) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (เครดิตปิดท้ายคลิปวิดีโอหรือด้านบนของอินโฟกราฟิก) มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ประกวด
  4. ผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดประเภทอินโฟกราฟิก ต้องมีขนาด เอ๓ (๒๙๗ x ๔๒๐ มม. หรือ ๑๑.๖๙ x ๑๖.๕๔ นิ้ว)
  5. ฟอนต์ภาษาไทยที่ใช้ในการประกวดต้องเป็นพยัญชนะภาษาไทยมีหัว อย่างเช่น DB fongnum หรือ TH Sarabun New เป็นต้น มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ประกวด
  6. ผลงานอินโฟกราฟิกที่ส่งมาประเภท .AI และ .EPS จะต้อง Create Outline ฝังภาพให้เรียบร้อยและแนบไฟล์ PDF มาด้วย
  7. ผลงานคลิปวิดีโอจะต้องมีบทบรรยายภาษาไทย (Thai Subtitle) ด้านล่าง
  8. สามารถส่งผลงานได้มากกว่า ๑ ผลงานต่อทีม โดยไม่จำกัดประเภทการประกวด
  9. การตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดของคณะกรรมการตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด

เงื่อนไขในการส่งผลงานเข้าประกวด

  1. ผู้สมัครต้องจัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมดำเนินการผลิตเองทั้งหมดและเป็นผู้รับผิดชอบต่อลิขสิทธิ์ของข้อมูล ได้แก่ เนื้อหา ภาพ เสียง คลิป วิดีโอ ซอฟต์แวร์หรืออื่นใดที่ใช้ในการผลิตผลงานโดยต้องไม่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
  2. ไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ เทคนิคการถ่ายทำ เทคนิคการผลิต และการตัดต่อ โดยผลงานทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผลงานที่จัดทำขึ้นใหม่ หรือไม่เคยมีการนำเสนอที่ใดมาก่อนและต้องไม่เคยได้รับรางวัลใดมาก่อน
  3. ภาพและเสียงที่ปรากฏในผลงานต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม ไม่หลบลู่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติและไม่มีเนื้อหาแสดงกิริยาไม่สุภาพ หยาบคาย ลามกอนาจาร หรือให้ร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดๆ
  4. ทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวด ขอสงวนสิทธิ์พิจารณาเพื่อเผยแพร่ในสื่อประชาสัมพันธ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  5. ผลงานที่ได้รับรางวัลถือเป็นลิขสิทธ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีสิทธ์นำ ไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงาน
  6. คณะกรรมการและผู้มีส่วนร่วมในโครงการไม่มีสิทธิ์ในการส่งผลงานเข้าประกวดและชิงรางวัล
  7. เจ้าของผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายจะต้องร่วมพิธีประกาศรางวัลการประกวดผลิตคลิปวิดีโอและอินโฟกราฟิก ภายใต้แนวคิด “Reset Mindset เข้าใจ ใช้เป็น เห็นรอบ” ในโครงการ Healthy Digital Family ผู้ชนะรางวัลจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน ศาสตราจารย์ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และเงินรางวัลในแต่ละประเภท
  8. ผู้ได้รางวัลจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๕ พร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆที่ออกโดยราชการ เพื่อยืนยันตัวตนในวันประกาศผลมอบรางวัล
  9. เงื่อนไขอื่นๆ นอกเหนือจากข้อกำหนดข้างต้นให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการโดยผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาดและสิ้นสุด
  10. ตลอดระยะเวลาของกิจกรรมผู้จัดงานมีสิทธิ์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎข้อบังคับต่างๆได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า